วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2555

Journey to the Promised Land Part 4 Defining the Promised Land: Beyond the Physical Realm


และแล้วพวกเราก็เดินทางมาถึงบทความที่ 4 ของซีร์ย์ 40 ปีในถิ่นทุรกันดาร ถึงตรงนี้ เราได้สำรวจ สามภาพสัญลักษณ์ที่เป็นบุคคล: โมเสส, โยชูวา และคาเลบ กับอีกหนึ่งภาพสัญลักษณ์ ที่เป็นเหตุการณ์ พิธีปัสกา (The Feast of Passover) วันนี้เราจะมาสำรวจเพิ่มอีก 1 ภาพสัญลักษณ์ที่เป็นสถานที่ สถานที่นั้น พระคัมภีร์เรียกว่า "แผ่นดินพระสัญญา (The Promised Land)"

"แผ่นดินพระสัญญา" หรือ "ดินแดนพระสัญญา" เป็นสิ่งที่ผู้เชื่อหลายๆ คน ไม่เข้าใจ และตีความหมายของมัน ผิดเพี้ยนไปจากที่พระเจ้าต้องการสื่อสาร มีบางคำสอน สอนว่า "แผ่นดินพระสัญญา (The Promised Land)" หมายถึง ความรอด การไปถึงแผ่นดินพระสัญญา ก็คือ การได้รับความรอด คนที่ไปไม่ถึง ก็คือไม่รอด

ขอขยายความคำสอนนี้เพิ่มเติมสักนิดนะครับ เพื่อให้เห็นภาพ คำสอนนี้ สอนว่า การออกจากอียิปต์ ก็คือ การออกจากอาณาจักรแห่งความมืด โดยพระโลหิตพระเยซู (ปัสกา) ซึ่งก็คือโดยพระคุณของพระเจ้า แต่หลังจากนั้นไป ผู้เชื่อต้องระมัดระวังในการดำเนินชีวิต ระวังระไวรักษาใจ รักษาชีวิตให้ถูกต้อง เนื่องจากผู้เชื่อต้องเดินต่อไปในถิ่นทุรกันดาร (Wilderness) ถิ่นทุรกันดาร ในคำสอนนี้ เล็งถึงการดำเนินชีวิตบนโลก

คำสอนนี้ เชื่อว่า จะมีคนที่ไปถึง และจะมีคนที่ไปไม่ถึง นั่นหมายความว่า การออกจากชีวิตแห่งการเป็นทาสในอียิปต์ หรือการรับเชื่อในพระเยซู เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น มิได้หมายความว่า ผู้เชื่อจะรอด หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ความรอดสามารถสูญเสียได้ ผู้เชื่อต้องผ่านบททดสอบ ซึ่งก็คือ การเดินในถิ่นทุรกันดาร ผู้ที่สามารถเดินไปได้ตลอดรอดฝั่ง จนถึงที่สุดปลาย จะได้รับความรอด เป็นรางวัล

สรุปให้เข้าใจด้วยภาษาง่ายๆ ก็คือ ความรอด = พระคุณ (จุดเริ่มต้น) + การกระทำ

ด้วยความเชื่อแบบนี้ จะก่อให้เกิดคำถามต่างๆ ตามมา อาทิเช่น

- ความเชื่อนี้ ได้ลดคุณค่างานบนไม้กางเขนของพระเยซู จากงานที่สำเร็จแล้ว เป็นงานที่ยังไม่สำเร็จ
- การกระทำและความดีของผู้เชื่อ สำคัญเหนือกว่า งานบนไม้กางเขนของพระเยซู
- เครดิตเป็นของผู้เชื่อ มากกว่าเป็นของพระเยซู
- ทำให้พระเจ้ากลายเป็น พระเจ้าที่ไม่ยุติธรรม คนที่เชื่อแล้วตายเลย อย่างโจรบนไม้กางเขน กลายเป็นคนได้เปรียบ เมื่อเทียบกับคนที่เชื่อแล้วต้องดำเนินชีวิตบนโลกต่ออีกยาวนาน
- เปลี่ยนสัจธรรม เรื่องความรอด ในงานที่สำเร็จแล้วของพระเยซูคริสต์ เป็นแค่ความเชื่อทางศาสนา เหมือนปรัชญาความเชื่ออื่นๆ ที่ต้องอาศัยการประพฤติปฏิบัติ ถือรักษาบทบัญญัติต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความรอด
- โมเสสไม่ได้เข้าคานาอัน บน concept ความเชื่อนี้ แสดงว่าโมเสสก็ไม่รอดเหมือนกัน

ในบทความนี้ เราจะมาศึกษาพระคัมภีร์ร่วมกันว่า ในยุคพระคัมภีร์ใหม่ อะไรคือความหมาย ของภาพสัญลักษณ์แผ่นดินพระสัญญา (The Promised Land)

มีหลักใหญ่ๆ 2 หลักในการตีความพระคัมภีร์ ก็คือ การตีความพระคัมภีร์ตามบริบท (Interpret the Bible in its Context) และ การตีความพระคัมภีร์ด้วยพระคัมภีร์เอง (Let the Bible Interpret Itself) วันนี้เราจะใช้หลักการที่สอง ให้พระคัมภีร์ตีความพระคัมภีร์เอง

ขอบคุณพระเจ้าที่ในพระคัมภีร์ใหม่ มีการพูดถึงเหตุการณ์ 40 ปีในถิ่นทุรกันดาร โดยเฉพาะดินแดนพระสัญญา ไว้ในพระคัมภีร์ฮีบรู บทที่ 3-4

พระคัมภีร์ฮีบรู บทที่ 3 ข้อ 7-19 ต่อเนื่องถึงบทที่ 4 ข้อ 1-13 ได้พูดถึงการเดินทาง 40 ปีในถิ่นทุรกันดารของคนอิสราเอล จริงๆ แล้วเนื้อหาหลักที่พระธรรมฮีบรูตอนนี้พูดถึง คือเรื่องแผ่นดินพระสัญญา (พี่น้องลองไปอ่านเพิ่มเติมดูนะครับ)

ฮบ 3:7-11  7 เหตุฉะนั้น ตามที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสว่า วันนี้ถ้าท่านทั้งหลายฟังพระสุรเสียงของพระองค์ 8 อย่าให้จิตใจของท่านดื้อรั้นอย่างในครั้งกบฏนั้น เหมือนอย่างในวันที่ทดลองในถิ่นทุรกันดาร 9 ซึ่งบรรพบุรุษของท่านทดลองเราโดยเอาเราเข้าพิสูจน์ ถึงแม้ว่าเขาเห็นการกระทำของเราตลอดสี่สิบปี 10 เพราะเหตุนั้นเราจึงพิโรธคนเหล่านั้น และว่า "ใจของเขาหลงผิดอยู่เสมอ เขาไม่รู้จักทางของเรา" 11 ตามที่เราปฏิญาณด้วยความพิโรธว่า "เขาจะไม่ได้เข้าสู่การพำนักซึ่งเราจัดให้"

จากพระคัมภีร์เดิม เรารู้ว่า คนอิสราเอลรุ่นที่เดินทางออกจากอียิปต์ และอายุเกิน 20 ปี มีเพียง 2 คนเท่านั้น ที่ได้เข้าสู่แผ่นดินพระสัญญา ที่เหลือตายในถิ่นทุรกันดาร ชัดเจนว่าพระคัมภีร์ฮีบรูบทที่ 3 ข้อ 11 ข้างบนกำลังอ้างอิงถึง เหตุการณ์ที่คนอิสราเอล ไม่ได้เข้าสู่แผ่นดินพระสัญญา ข้อพีงสังเกต ก็คือ พระเจ้าเรียกการ "ไม่ได้เข้าแผ่นดินพระสัญญา" ว่า "ไม่ได้เข้าสู่การพำนัก"


กดว 14:28-30  28 เจ้าจงกล่าวแก่เขาว่า พระเจ้าตรัสว่า 'เรามีชีวิตอยู่ฉันใด เราจะกระทำสิ่งที่เจ้าทั้งหลายบ่นให้เราได้ยินแก่เจ้าฉันนั้น 29 ซากศพของเจ้าจะตกหล่นอยู่ในถิ่นทุรกันดารนี้ จำนวนคนทั้งหมดของเจ้านับตั้งแต่อายุยี่สิบปีขึ้นไป ผู้ใดที่บ่นว่าเรา 30 จะไม่มีสักคนหนึ่งที่มาถึงแผ่นดินที่เราสัญญาว่าจะให้เจ้าอาศัยอยู่ เว้นแต่คาเลบบุตรเยฟุนเนห์และโยชูวาบุตรนูน 

อย่างที่ผมเคยกล่าวไว้ในบทความเรื่องภาพสัญลักษณ์ ตอนที่ 2 Unlock the Bible Typologies ว่า พระคัมภีร์เดิมเป็นเงา (Shadow) ของแก่นสาร (Substance) ในพระคัมภีร์ใหม่


จากตรงนี้ เมื่อเราให้พระคัมภีร์ตีความพระคัมภีร์เอง เราจะรู้ว่า "แผ่นดินพระสัญญา" ในพระคัมภีร์เดิม เป็นภาพเล็งถึง "การพำนัก" ในพระคัมภีร์ใหม่ ความหมายที่ซ่อนอยู่ของการได้เข้าสู่ดินแดนพระสัญญาก็คือ การพำนัก

ทีนี้ เราจะมาศึกษากันต่อ ถึงคำว่า "พำนัก" ที่พระเจ้าพูดถึง มีความหมายว่าอะไร??


ฮบ 3:11 ตามที่เราปฏิญาณด้วยความพิโรธว่า "เขาจะไม่ได้เข้าสู่การพำนักซึ่งเราจัดให้" 
Heb 3:11 So I swore in My wrath, 'They shall not enter My rest.' " (NKJ)

คำว่า "การพำนัก" ในพระคัมภีร์ภาษาไทย คือคำว่า "Rest" ในภาษาอังกฤษ ฉบับแปล New King James (NKJ) ต้นฉบับพระคัมภีร์ภาษากรีก ใช้คำว่า "Katapausis"  หมายถึง ความสงบของคลื่นลมในทะเล หรือสถานที่พักผ่อน

จริงๆ แล้ว ถ้าจะแปลพระคัมภีร์ฮีบรู บทที่ 3 ข้อ 11 ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย และรักษาความหมายที่แท้จริงเอาไว้ ควรจะแปลว่า "เขาจะไม่ได้เข้าสู่การพักสงบที่เราจัดให้"

ดังนั้น ชัดเจนว่า "แผ่นดินพระสัญญา" ในพระคัมภีร์เดิม ไม่ได้มีความหมายถึง "เรื่องความรอด" แต่ประการใด แต่หมายถึง "การพักสงบในพระเจ้า" จากบทความก่อนเรื่องเทศกาลปัสกา (The Feast of Passover) ชัดเจนว่า ความรอด มาโดยพระโลหิตของพระเยซูคริสต์เท่านั้น 

พี่น้องจำตัวอย่าง ครอบครัวคนยิว 3 ครอบครัว ในคืนวันปัสกาได้ไหมครับ เงื่อนไขมีเพียงข้อเดียว ที่จะทำให้ทูตแห่งความตายผ่านเลยบ้านของพวกเขาไป เงื่อนไขนั้นก็คือ "เมื่อเราเห็นโลหิตที่วงกบประตู" ถ้าพี่น้องยังไม่เคยอ่านบทความดังกล่าว ลองกลับไปอ่านดูนะครับ ผมเชื่อว่า พี่น้องจะได้รับพระพรอย่างมาก

ความรอด มาโดยพระโลหิตของพระเยซูคริสต์ โดยงานที่สำเร็จแล้วบนไม้กางเขนของพระองค์เท่านั้น โดยไม่ต้องบวกด้วยอะไรเพิ่มเติม เพราะงานของพระเยซูคริสต์ เสร็จสิ้นสมบูรณ์แบบครบถ้วนแล้ว

(โปรดติดตามตอนต่อไปที่เข้มข้นขึ้นของแผ่นดินพระสัญญาตอนที่ 2 นะครับ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น