วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555

Journey to the Promised Land Part 1 Moses and Joshua


บทความนี้ เป็นบทความที่ปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหา มาจากบทความต้นแบบเรื่องของโมเสส, โยชูวา และคาเลบ ความตั้งใจแรก ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องภาพสัญลักษณ์ของทั้ง 3 คน แต่เมื่อเริ่มเขียนไปเรื่อยๆ ผมรู้สึกว่า มีรายละเอียด ที่น่าสนใจหลายอย่าง ที่ผมไม่อยากจะข้ามผ่านไป ก็เลยขอโม เนื้อหาต้นฉบับ จนกลายเป็นเรื่อง 40 ปีในถิ่นทุรกันดาร ที่พี่น้องกำลังอ่านอยู่นี่แหละครับ


เหตุการณ์การเดินทางในถิ่นทุรกันดาร 40 ปีของคนอิสราเอล มีหลายต่อหลายอย่างที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องของภาพสัญลักษณ์ (Typology)

ท้าวความที่มาที่ไปของเหตุการณ์ดังกล่าวสักหน่อยนะครับ เรื่องทั้งหมดเริ่มขึ้นที่โยเซฟ ที่ถูกพี่ชายขายมาเป็นทาสที่อียิปต์ แต่พระเจ้าทรงสถิตอยู่กับโยเซฟ หลายปีผ่านมา พระเจ้าทรงโปรดยกชูโยเซฟขึ้นเป็นมหาอุปราช ผู้มีอำนาจสูงสุด เป็นรองแค่ฟาโรห์ พระเจ้าได้เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสสำหรับโยเซฟ โดยพระองค์ทรงใช้เหตุการณ์กันดารอาหารใหญ่ทั่วโลก ยกและวางโยเซฟไว้ในตำแหน่งที่ใหญ่โต

ตอนนั้นบรรดาพี่ๆ ของโยเซฟได้เดินทางมาซื้ออาหารที่อียิปต์ ทำให้โยเซฟได้พบกับบรรดาพี่ชายของเขาอีกครั้งหนึ่ง โยเซฟได้สำแดงตัวเองกับพี่พี่ 


ท้ายที่สุด ยาโคบและครอบครัวทั้งหมด 70 ชีวิตได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่อียิปต์ โดยฟาโรห์ได้ยกเมืองโกเชนซึ่งเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด ให้เป็นที่พำนักของคนอิสราเอล

เวลาผ่านล่วงเลยมาหลายปี ยาโคบ โยเซฟกับพี่ชายและน้องชายทั้งบรรดาคนสมัยนั้น ต่างถึงแก่ความตายกันหมด ฟาโรห์องค์ใหม่ หาได้รู้จักโยเซฟไม่ ฟาโรห์จึงเห็นว่า คนอิสราเอลเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของอียิปต์ เนื่องจากคนอิสราเอลได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมหาศาล นักศาสนาศาสตร์ลงความเห็นว่า คนอิสราเอลในตอนนี้ มีประมาณ 2.5 - 3 ล้านคน


ฟาโรห์จึงใช้งานคนอิสราเอลอย่างหนักให้ทำงานก่อสร้างหัวเมืองเก็บสมบัติที่เมืองปิธม และเมืองราอัมเสส พระคัมภีร์ได้บันทึกไว้ว่า ชีวิตของคนอิสราเอลขมขื่น เนื่องจากพวกเขาถูกบังคับให้ทำงานหนักทุกชนิด ไม่ว่าจะงานก่อสร้าง และงานต่างๆ ที่ทุ่งนา (อพย 1:14)

ฟาโรห์ไม่หยุดแค่นั้น พระองค์ยังมีรับสั่งให้นางผดุงครรภ์ชาวฮีบรู 2 คน คือชิฟราห์ และปูอาห์ ฆ่าเด็กผู้ชายชาวฮีบรูทุกคนที่คลอดออกมาเสีย

พระคัมภีร์ได้กล่าวต่อไปว่า นางผดุงครรภ์ทั้งสอง ยำเกรงพระเจ้า และมิได้ทำตามพระบัญชาของฟาโรห์ ปล่อยให้เด็กชายชาวฮีบรูรอดชีวิต หนึ่งในเด็กที่รอดชีวิตมาได้นั้น ก็คือ โมเสส


แม่ของโมเสส ได้แอบเลี้ยงดูโมเสสแบบหลบๆ ซ่อนๆ เป็นเวลา 3 เดือน จนสถานการณ์ตรึงเครียดสุดๆ แม่จึงได้เอาตะกร้าสานด้วยต้นกก ยาด้วยยางมะตอยและชัน และเอาทารกโมเสสอายุ 3 เดือนวางไว้ที่กอปรือริมแม่น้ำ เป็นจังหวะเดียวกับที่พระราชธิดาของฟาโรห์ลงไปสรงน้ำ ธิดาฟาโรห์จึงเจอทารกโมเสสที่อยู่ในตะกร้า ด้วยความน่ารัก น่าเอ็นดูของโมเสส พระราชธิดาฟาโรห์ จึงได้รับอุปการะเลี้ยงดูโมเสส


ในบทที่ 2 ของพระคัมภีร์อพยพ พระคัมภีร์ได้บันทึกไว้ว่า คนอิสราเอลเศร้าใจมาก เพราะเหตุที่พวกเขาต้องเป็นทาส พวกเขาจึงร้องคร่ำครวญขอความช่วยเหลือ และเสียงร่ำร้องของเขา ดังขึ้นมาถึงพระเจ้า พระเจ้าทรงสดับเสียงคร่ำครวญของเขา และพระองค์ทรงระลึกถึงพันธสัญญาที่พระองค์ได้ทำไว้กับอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ (อพย 2:23-24)


พระเจ้าจึงเลือกโมเสส ให้เป็นคนนำคนอิสราเอลออกจากชีวิตการเป็นทาสในอียิปต์

และนี่ก็เป็นที่มาของการเดินทางในถิ่นทุรกันดาร และบทความ 40 ปีในถิ่นทุรกันดารนี้

คนอิสราเอลต้องใช้เวลาเดินทางอยู่ในถิ่นทุรกันดารนานถึง 40 ปี ตัวเลข 40 ในบริบทของการเดินทาง 40 ปีในถิ่นทุรกันดาร มีความหมายเล็งถึง 1 ชั่วอายุคน

ช่วง 40 ปีในถิ่นทุรกันดาร ในมุมของภาพสัญลักษณ์ (Typologies) แล้ว มีหลายต่อหลายอย่างที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคล, สถานที่ หรือเหตุการณ์ ซึ่งเราจะออกสำรวจ สัจธรรมที่ซ่อนอยู่ในพระคัมภีร์ร่วมกัน

ถ้าจะพูดถึงตัวบุคคล มีตัวละครเด่นๆ อยู่ 3 ตัว ที่เราไม่สามารถจะข้ามผ่านไปได้ 3 คนนั้นก็คือ โมเสส, โยชูวา และคาเลบ

อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ในบทความ ภาพสัญลักษณ์ ตอนที่ 2 ว่าพระคัมภีร์เดิมเป็นเงา (Shadow) ในขณะที่พระคัมภีร์ใหม่เป็นแก่นสาร (Substance) และพระเยซูกับงานที่สำเร็จแล้วของพระองค์เป็นกุญแจที่จะไขภาพความลับในพระคัมภีร์ ให้เกิดความกระจ่าง

จริงๆ แล้ว ภาพของพระเยซู และโมเสส เป็นภาพที่มีความเหมือนและความต่างกันแบบสุดโต่ง และเป็นภาพที่มักถูกนำมาเปรียบเทียบกันอยู่บ่อยครั้งในพระคัมภีร์ แบบที่ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า "Compare and Contrast" ผมขอติดไว้ก่อน แล้วจะกลับมาเขียนเรื่องของพระเยซู และโมเสสในโอกาสต่อไปนะครับ

กลับมาที่เรื่องของ 3 บุรุษ: โมเสส, โยชูวา และคาเลบ กันต่อ

บุรุษ 3 คนเป็นคนในพระคัมภีร์เดิม นั่นหมายความว่า พวกเขาเป็นเงา เป็นภาพสัญลักษณ์ ของแก่นสารบางอย่าง วันนี้เราจะมาไขความลับภาพสัญลักษณ์พระคัมภีร์ จากสามหนุ่มเนื้อทองนี้กัน



ชัดเจนว่า "โมเสส" เป็นภาพสัญลักษณ์ของ "ธรรมบัญญัติ" ภาพโมเสสถือบัญญัติ 10 ประการ ถือเป็นภาพโปสเตอร์ ยอดนิยมภาพหนึ่งในร้านหนังสือคริสเตียน สำหรับคนยิวแล้ว เวลาพูดถึงโมเสส พวกเขาจะนึกถึงบัญญัติ 10 ประการ บ่อยครั้งในพระคัมภีร์ เวลากล่าวถึงบัญญัติ 10 ประการ พระคัมภีร์จะเรียกว่า "พระบัญญัติของโมเสส (The Law of Moses)" แม้กระทั่ง เวลาที่พระเยซูจะกล่าวถึงบัญญัติ 10 ประการ พระองค์ก็เรียกว่า "บัญญัติของโมเสส"

ลก 24:44 พระองค์ตรัสกับเขาว่า "นี่เป็นถ้อยคำของเรา ซึ่งเราได้บอกไว้แก่ท่านทั้งหลายเมื่อเรายังอยู่กับท่านว่า บรรดาคำที่เขียนไว้ในพระราชบัญญัติของโมเสส และในคัมภีร์ศาสดาพยากรณ์ และในหนังสือสดุดีกล่าวถึงเรานั้น จำเป็นจะต้องสำเร็จ"

Luke 24:44 Then He said to them, "These are the words which I spoke to you while I was still with you, that all things must be fulfilled which were written in the Law of Moses and the Prophets and the Psalms concerning Me." (NKJ)


ดังนั้นชัดเจนว่า โมเสสเป็นภาพเล็ง หรือภาพสัญลักษณ์ของ ธรรมบัญญัติ, พันธสัญญาเดิม และแรงพยายาม (Self Effort) ของมนุษย์
หัวใจของพันธสัญญาเดิม ก็คือ "ธรรมบัญญัติ" ภายใต้พันธสัญญาเดิม ผู้ใดถือรักษาธรรมบัญญัติ ผู้นั้นได้รับการอวยพร ผู้ใดฝ่าฝืนผู้นั้นโดนแช่งสาป มิใช่แค่ตัวคนฝ่าฝืนเท่านั้น ผลของคำแช่งสาป สามารถถูกส่งต่อไปถึงลูกหลานของเขา 3-4 ชั่วอายุคน (อพย 20:5) พูดง่ายๆ ว่าพันธสัญญาเดิม คือพันธสัญญาที่ว่าด้วย ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว - ทำดีได้รับการอวยพร ทำชั่วโดนแช่งสาป การถือรักษาบัญญัติ ต้องอาศัยแรงพยายาม (Self Effort) อย่างมาก ดังนั้นเอง ธรรมบัญญัติ, พันธสัญญาเดิม และแรงพยายาม จึงเป็นเหมือนภาพเดียวกันใน 3 แง่มุม



จากโมเสส เรามาต่อกันที่โยชูวา ชื่อของโยชูวา หรือ Yeshua ในภาษาฮีบรู เมื่อแปลออกมาเป็นภาษากรีก ก็คือคำว่า "Jesus" หรือ "เยซู" นั่นเอง คำว่า "Yeshua" หรือ "Jesus" มีความหมายว่า ผู้ช่วยชีวิต, ผู้ช่วยเหลือ, ผู้ช่วยให้รอด หรือ ผู้กู้ ความหมายที่ชัดเจนอย่างนี้ คงจะแปลความเป็นอื่นไปไม่ได้

โยชูวา เป็นภาพเล็ง หรือภาพสัญลักษณ์ของ "พระเยซูคริสต์" นั่นเอง

(โปรดติดตามตอนต่อไปในภาค 2)

1 ความคิดเห็น:

  1. ให้คำอธิบายชัดเจนมากขอบคุณ

    หนุย

    ตอบลบ