วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

Unlock Bible typologies in Part 2:


ได้เวลาแล้ว ที่ผมจะกลับมาเขียนเรื่องภาพสัญลักษณ์พระคัมภีร์ตอน 2 ต่อ เป็นเวลาร่วมเดือน หลังจากที่ผมได้เขียนตอนที่ 1 ไป

ก่อนที่เราจะมาเริ่มสำรวจพระคัมภีร์กัน เรามาจูนคลื่นความถี่ (find tune) ให้ตรงกันสักหน่อยนะครับ มีความเข้าใจบางอย่างที่เราต้องเข้าใจก่อนที่เราจะเริ่มแปลภาพสัญลักษณ์ในพระคัมภีร์

- พระคัมภีร์เดิมเป็นเงา (Shadow) ในขณะที่พระคัมภีร์ใหม่เป็นแก่นสาร (Substance)
- พระคัมภีร์ใหม่ซ่อนอยู่ในพระคัมภีร์เดิม และพระคัมภีร์เดิมสำแดงผ่านพระคัมภีร์ใหม่
- พระเยซู และงานที่สำเร็จแล้วของพระองค์ คือกุญแจที่จะไขความลับ ภาพสัญลักษณ์ต่างๆ ในพระคัมภีร์
- ภาพสัญสัญลักษณ์ของพระเยซู ได้ถูกซ่อนอยู่ตลอดเล่มพระคัมภีร์เดิม และได้ถูกสำแดงออกอย่างชัดเจนในพระคัมภีร์ใหม่
- ความเข้าใจในภาพสัญลักษณ์ที่ถูกซ่อนอยู่ของพระเยซูในพระคัมภีร์เดิม เป็นกุญแจนำไปสู่ความเข้าใจ และตีความพระคัมภีร์ใหม่อย่างถูกต้อง

บางคนอาจมีข้อสงสัยว่า การแปลความพระคัมภีร์ ด้วยภาพสัญลักษณ์ หรือที่ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Typologies เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือเปล่า? การแปล Typologies จะกลายเป็นพวกสอนผิด หรือลัทธิแปลกประหลาดหรือเปล่า?

จริงๆ แล้วการสอนพระคัมภีร์โดยการอ้างอิง ถึงเหตุการณ์บางเหตุการณ์ ในลักษณะของภาพสัญลักษณ์ หรือภาพเล็ง เริ่มต้นที่พระเยซู เรียกได้ว่า พระเยซูทรงเป็นต้นแบบของการสอนพระคัมภีร์ด้วยภาพสัญลักษณ์ (Typologies) ตามติดมาด้วยอาจารย์เปาโล - ผู้ซึ่งเขียนพระคัมภีร์ใหม่ถึง 2/3

ครั้งแรกที่พระเยซูทรงใช้ภาพสัญลักษณ์ (Typology) ในคำสอนของพระองค์ ได้ถูกบันทึกไว้ในพระกิตติคุณยอห์น

ยน 3:14-15 14 โมเสสได้ยกงูขึ้นในถิ่นทุรกันดารฉันใด บุตรมนุษย์จะต้องถูกยกขึ้นฉันนั้น 15 เพื่อทุกคนที่เชื่อในพระองค์จะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์


พระเยซูได้อ้างอิง ถึงเหตุการณ์ในพระคัมภีร์เดิม ที่คนอิสราเอลโดนงูแมวเซากัดในถิ่นทุรกันดาร และพระเจ้าให้โมเสสทำงูด้วยทองสัมฤทธิ์แขวนไว้บนเสา คนอิสราเอลที่โดนงูกัด เมื่อพวกเขามองไปที่งูบนเสา พวกเขาจะหายดี พระเยซูได้อธิบายว่า ภาพสัญลักษณ์นี้ เล็งถึงพระองค์ พระองค์คืองูที่อยู่บนเสานั้น พระองค์จะต้องถูกยกขึ้น คนที่เห็นพระองค์แล้วเชื่อวางใจในพระองค์จะไม่พินาศ แต่จะรอด และมีชีวิตนิรันดร์

ทีนี้ เรามาดูการใช้ภาพสัญลักษณ์ในการอธิบาย และการสอนพระคัมภีร์ของอาจารย์เปาโลกันบ้าง วันนี้ผมขอยกตัวอย่างสัก 2 ตอนนะครับ

เรามาเริ่มกันที่ตัวอย่างแรก อาจารย์เปาโลอ้างอิง ถึงเหตุการณ์ที่พระเจ้าให้น้ำไหลออกมาจากศิลา หรือหิน ให้คนอิสราเอลได้ดื่ม จริงๆ แล้วเหตุการณ์น้ำไหลออกจากหิน เกิดขึ้น 2 ครั้งในพระคัมภีร์เดิม ครั้งแรกในอพยพ บทที่ 17 และครั้งที่สองใน กันดารวิถี บทที่ 20 เหตุการณ์สองเหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นในเวลาที่ต่างกันถึง 38 ปี สองเหตุการณ์นี้ ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นเหตุการณ์ที่เหมือนกัน แต่จริงๆ แล้ว สองเหตุการณ์นี้ มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน และมีความหมายในเชิงภาพสัญลักษณ์ที่แตกต่างกัน ไว้เราค่อยมาเจาะลึกเหตุการณ์นี้กันนะครับ

เรากลับมาที่ตัวอย่างนี้ของอาจารย์เปาโลกัน อาจารย์เปาโลพูดชัดว่า ศิลา เล็งถึงพระคริสต์

1คร 10:4 และได้ดื่มน้ำฝ่ายจิตวิญญาณอันเดียวกันทุกคน เพราะว่าเขาได้ดื่มน้ำซึ่งไหลออกมาจากศิลาฝ่ายจิตวิญญาณที่ติดตามเขามา ศิลานั้นคือพระคริสต์

อีกตัวอย่างหนึ่งที่อาจารย์เปาโลได้อ้างอิงถึงเหตุการณ์ในพระคัมภีร์เดิม ในเชิงของภาพสัญลักษณ์ (Typology) ที่ผมอยากจะกล่าวถึง ถูกบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ กาลาเทีย บทที่ 4


กท 4:21-26 21 ท่านที่อยากอยู่ใต้พระราชบัญญัติ ท่านไม่ได้ฟังพระราชบัญญัติหรือ จงบอกข้าพเจ้าเถิด 22 เพราะมีเขียนไว้ว่า อับราฮัมมีบุตรชายสองคน คนหนึ่งเกิดจากหญิงทาสี อีกคนหนึ่งเกิดจากหญิงที่เป็นไทย 23 บุตรที่เกิดจากหญิงทาสีนั้นก็เกิดตามเนื้อหนัง แต่ส่วนบุตรที่เกิดจากหญิงที่เป็นไทยนั้นเกิดตามพระสัญญา 24 ข้อความนี้เป็นอุปไมย ผู้หญิงสองคนนั้นได้แก่พันธสัญญาสองอย่าง คนหนึ่งมาจากภูเขาซีนาย คลอดลูกเป็นทาส คือ นางฮาการ์ 25 นางฮาการ์นั้นได้แก่ภูเขาซีนายในประเทศอาระเบีย ตรงกับกรุงเยรูซาเล็มปัจจุบัน เพราะกรุงนี้กับพลเมืองเป็นทาสอยู่ 26 แต่ว่ากรุงเยรูซาเล็มซึ่งอยู่เบื้องบนนั้นเป็นไทย เป็นมารดาของเราทั้งปวง



อาจารย์เปาโล ได้อ้างอิงถึงภรรยา 2 คนของอับราฮัม คือซาราห์ และฮาการ์ อาจารย์เปาโลพูดไว้ชัดเจนว่า ผู้หญิงสองคนนี้ เล็งถึงพันธสัญญาทั้งสอง ซึ่งก็คือ พันธสัญญาเดิม และพันธสัญญาใหม่ ทำไมอาจารย์ต้องนำพันธสัญญาทั้งสองมาเปรียบเทียบกัน เหตุผลก็เพราะว่าพันธสัญญาทั้งสอง มีความแตกต่างกันชนิดที่เข้ากันไม่ได้เลย ในตอนนั้น คริสเตียนชาวกาลาเทีย ได้เอาธรรมบัญญัติ (พันธสัญญาเดิม) มาผสมเข้ากับพระคุณพระเจ้า (พันธสัญญาใหม่) ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า พันธสัญญาลูกผสม (Mixture)


เหตุการณ์ในตอนนั้นที่สุดแล้ว อับราฮัมต้องไล่ฮาการ์และอิชมาเอล ออกไป ไม่สามารถอยู่ร่วมเป็นครอบครัวเดียวกัน กับซาราห์และอิสอัค (ปฐก 21:10)

เรื่องของฮาการ์ และอิชมาเอล คือภาพสัญลักษณ์ ที่พระเจ้าต้องการบอกกับเราว่า พระคุณพระเจ้า ไม่สามารถผสมเข้ากับการถือรักษาธรรมบัญญัติได้ เสมือนน้ำกับน้ำมัน ที่ไม่สามารถผสมรวมกันเป็นเนื้อเดียวกันได้

จริงๆ แล้ว ภาพสัญลักษณ์เกี่ยวกับพระคุณ และธรรมบัญญัติ ได้ปรากฏอยู่ในหลายๆ ภาพสัญลักษณ์ในพระคัมภีร์เดิม ไว้เราจะค่อยๆ มาเจาะลึก สำรวจพระคัมภีร์ตอนเหล่านั้นกันนะครับ

ผมอยากจะจบบทความนี้ด้วยพระกิตติคุณลูกา บทที่ 24 ข้อ 13-35

ลก 24:32 เขาจึงพูดกันว่า "ใจเราเร่าร้อนภายใน เมื่อพระองค์ตรัสกับเราตามทาง เมื่อพระองค์ทรงอธิบายพระคัมภีร์ให้เราฟังมิใช่หรือ"

เหตุการณ์ตอนนี้ เป็นตอนที่สาวก 2 คนเดินทางจากกรุงเยรูซาเล็มไปเมืองที่มีชื่อว่า เอมมาอูส พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า ช่วงต้นของการเดินทาง สาวก 2 นี้ โศกเศร้า (ข้อ 17) พระเยซูทรงปรากฏแก่เขาทั้งสอง แต่ทั้งสองจำพระองค์ไม่ได้ (ข้อ 16) ระยะทางจากเยรูซาเล็ม ไปเอมมาอูส อยู่ประมาณ 11 กิโลเมตร 

ช่วงเดินเท้า 11 ก.ม. นี้ พระเยซูได้สอนพระคัมภีร์ สาวก 2 คนนี้ ในข้อ 32 พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า ใจที่โศกเศร้าของสาวกทั้งสอง กลับกลายเป็นเร่าร้อนเพื่อพระเจ้า ที่สุดเมื่อไปถึงเอมมาอูส สองคนนี้ เดินอีก 11 ก.ม. กลับไปเยรูซาเล็มโดยมิได้ค้างแรมที่เยรูซาเล็มแต่อย่างใด (ข้อ 33)


ประเด็นที่น่าสนใจ ของเหตุการณ์นี้ ก็คือ พระเยซูสอนพระคัมภีร์อะไรแก่สาวก 2 คนนี้ ที่ทำให้จิตใจที่หดหู่ และโศกเศร้าของทั้งสอง กลับเป็นเร่าร้อนได้ พี่น้องอยากรู้ไหมครับ??

คำตอบได้ถูกบันทึกไว้ในข้อ 27

ลก 24:27 พระองค์จึงทรงเริ่มอธิบายพระคัมภีร์ที่เล็งถึงพระองค์ทุกข้อให้เขาฟัง เริ่มต้นตั้งแต่โมเสสและบรรดาศาสดาพยากรณ์

พระเยซูได้อธิบายภาพสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เล็งถึงพระองค์ให้ทั้งสองได้ฟัง คำว่า "โมเสส" คือพระคัมภีร์ที่โมเสสเป็นผู้เขียน - ปฐมกาล, อพยพ, เลวีนิติ, กันดารวิถี และเฉลยธรรมบัญญัติ "บรรดาศาสดาพยากรณ์" ก็คือ พระคัมภีร์เดิมในส่วนที่เหลืออยู่


ช่างเป็นช่วงเวลาเรียนพระคัมภีร์ที่น่าตื่นเต้นจริงๆ พระองค์เริ่มอธิบายตั้งแต่ พระองค์ก็คือ พงศ์พันธุ์ของหญิงที่พระเจ้าสัญญาไว้ในพระคัมภีร์ปฐมกาลที่จะเหยียบหัวงูแหลก, เครื่องเผาบูชา 5 ประเภทในเลวีนิติ ล้วนเล็งถึงพระองค์ และงานที่สำเร็จแล้วบนไม้กางเขน, ชุดมหาปุโรหิต เล็งถึงพระองค์อย่างไร, ภาพของโยเซฟที่เล็งที่พระองค์ ฯลฯ

ระยะทางเดินเท้า 11 ก.ม. กับการไขความลับภาพสัญลักษณ์ของพระเยซูที่ถูกซ่อนอยู่ในพระคัมภีร์ ผลของการได้ฟังคำสอนที่เล็งถึงพระเยซู และมีพระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลาง ก็คือ ใจของสาวกทั้งสอง เร่าร้อน ไม่เพียงแค่ใจของทั้งสองได้รับการสัมผัส ร่างกายของทั้งสอง ยังได้รับการเสริมกำลังอีกด้วย พวกเขาสามารถเดินทางอีก 11 ก.ม. ย้อนกลับไปเยรูซาเล็มได้โดยไม่ต้องพักแรม รวมระยะเวลาเดินทางของทั้งสอง 22 ก.ม. การเดินทางด้วยเท้าในสมัยนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เพราะพื้น ที่พวกเขาเดิน ไม่ได้ปูคอนกรีตเหมือนสมัยเรา แต่เป็นพื้นเต็มไปด้วยหิน

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราได้เห็นภาพสัญลักษณ์ของพระเยซูที่ถูกซ่อนอยู่ในพระคัมภีร์ถูกเปิดเผย และสำแดงออกมา เมื่อนั้น การศึกษาพระคัมภีร์ จะไม่เต็มไปด้วยข้อมูลทางวิชาการ แต่แห้งเหี่ยวไร้ชีวิตชีวาอีกต่อไป ใจของเราจะเร่าร้อน กายของเราจะได้รับการเสริมกำลัง

และนี่คือความตั้งใจของผม ที่ทำให้ผมเริ่มเขียนบล็อค insightscripture.blogspot.com ผมอยากให้บล็อคนี้ เป็นศูนย์รวมคำสอนที่มีพระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลาง เป็นที่ที่ภาพสัญลักษณ์ที่ซ่อนอยู่ของพระเยซูในพระคัมภีร์ได้ถูกเปิดเผยออกมาด้วยสัจธรรมแห่งพันธสัญญาใหม่ แล้วเรามาร่วมศึกษาพระคัมภีร์กันต่อนะครับ

1 ความคิดเห็น: